top of page

"ไข่ต้ม" หรือ "ไข่ลวก" ไข่ชนิดไหนให้ประโยชน์มากกว่ากัน?

ไข่เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสาร อาหารประเภทโปรตีน ทั้งยังมีไขมัน, ธาตุเหล็ก, ฟอสฟอรัส, วิตามินบี 12, วิตามินเอ และแร่ธาตุซึ่งมีประโยชน์ต่อการสร้างเซลล์ผิวหนัง ขน และเล็บ เป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ มีค่าประมาณ 80 กิโล แคลอรี่/ฟอง จึงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักรวมถึงบุคคลทั่วไปด้วย การจะบริโภคไข่เพื่อให้ได้คุณค่าควรบริโภคไข่ให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายและเหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุดังนี้

  • เด็กอายุ 6 เดือน ควรใช้ไข่แดงบดผสมกับข้าวโดยเริ่มให้ตั้งแต่ปริมาณน้อยๆไปก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละนิด

  • เด็กอายุ 7 เดือนขึ้นไปจนถึงวัยรุ่น รับประทานได้ 1 ฟองต่อวัน

  • วัยทำงาน และมีสุขภาพที่ปกติ รับประทานได้ 3-4 ฟองต่อสัปดาห์

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง ควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์

จากข้อมูลมีการเปรียบเทียบพลังงานที่ได้จากไข่แต่ละประเภท พบว่า

  • ไข่ต้ม 1 ฟอง ให้พลังงาน 80 กิโลแคลลอรี่

  • ไข่ลวก 1 ฟอง ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี่

  • ไข่ดาว ให้พลังงาน 165 กิโลแคลลอรี่

  • ไข่เจียว ให้พลังงาน 250 กิโลแคลลอรี่

จะเห็นได้ว่าไข่ต้มกับไข่ลวกให้พลังงานน้อยที่สุดจึงเหมาะสมผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักแล้วคราวนี้ระหว่างไข่ต้มกับไข่ลวก ไข่ชนิดไหนให้ประโยชน์มากกว่ากัน?


คำตอบ คือ “ไข่ต้ม” เพราะไข่ลวกเสี่ยงต่อการท้องเสียจากเชื้อ Salmonella spp. และไข่ลวกนั้นมีโปรตีนอะวิดิน ซึ่งโปรตีนตัวนี้จะไปขัดขวางการดูดซึมไบโอตินในร่างกายส่งผลให้ร่างกายขาดไบโอตินซึ่งเป็นวิตามินที่พบในอาหาร หรือสร้างขึ้นจากแบคทีเรียในลำไส้ อาการที่พบสำหรับผู้ที่ขาดวิตามินไบโอติน คือ

  1. หมดเรี่ยวแรง เหนื่อยล้า และอาจมีอาการของการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ

  2. มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร

  3. มีอาการทางระบบประสาท เช่น อาการนอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า ประสาทหลอน

  4. เกิดความบกพร่องของระบบผิวพรรณ เช่น มีอาการผิวแห้งเป็นผื่นคัน โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตา จมูก ปาก และ บริเวณอวัยวะเพศ ผิวคล้ำและเป็นจ้ำ การรับสัมผัสทางผิวพรรณผิดปกติ อาการผมร่วง

  5. ระบบการเผาผลาญไขมันเกิดความบกพร่อง ส่งผลให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง และการเผาผลาญไขมันน้อยลงกลไกการทำงานของวิตามินไบโอตินในร่างกาย


ผู้เรียบเรียง : สุชาวดี นานเลิศ (นักวิทยาศาสตร์อาหาร, สงวนฟาร์ม)

bottom of page