top of page

ไขมันในไข่แดง

หลายๆ คนยังคงกังวลหากบริโภคไข่ในปริมาณมากเกินไป อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะในไข่แดงมีคอเลสเตอรอลค่อนข้างสูง หากรับประทานมากๆ อาจเกิดการสะสม และอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจได้ ในขณะที่กระทรวงเกษตร แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture : USDA) ได้ถอดคอเลสเตอรอลออกจากสารอาหารที่คนอเมริกันต้องควบคุมในปี 2558 โดยพบว่าคอเลสเตอรอลที่ได้รับจากอาหารนั้นไม่สัมพันธ์กับปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด จากการวิจัยเกี่ยวกับไข่ไก่ พบว่าไข่ไก่เป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ทั้งกรดไขมัน DHA (Docosahexaenoic acid) และ EPA (Eicosapentaenic acid) ที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของสมอง สายตา หัวใจ และระบบหลอดเลือด รวมถึงช่วยป้องกันโรคสมาธิสั้นในเด็ก โดยสมองตอบสนองได้ไวขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้บริโภคไข่ไก่ และช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ และโรคหัวใจ


ในความเป็นจริงแล้วคอเลสเตอรอลแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ คอเลสเตอรอลที่ร่างกายสร้างขึ้นที่ตับ จากพลังงานส่วนเกินที่ร่างกายต้องการ เช่น จากการรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไป โดยคอเลสเตอรอลส่วนนี้มีมากถึง 75% ของร่างกาย อีกส่วนคือ สารคอเลสเตอรอลที่ได้รับจากการรับประทานอาหารโดยตรง ซึ่งมีเพียง 25% เท่านั้น ดังนั้นการลดการกินไข่ ก็ไม่ได้ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลต่ำลงแต่อย่างใด โดยสามารถสรุปได้ว่าในคนทุกวัยที่สุขภาพปกติ สามารถรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย ไม่ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจ ที่สำคัญการรับประทานไข่ไก่ในผู้สูงอายุ จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งยังช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ ที่สำคัญไข่ไก่ยังมีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบสมอง ซึ่งจะช่วยให้มีสมาธิ เพราะในไข่ไก่มีซิลิเนียมมากถึง 1 ใน 4 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งซีลีเนียม ที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือสารแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant ) ตัวหนึ่ง ที่ช่วยชะลอวัยและป้องกันอัลไซเมอร์ ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และผู้ที่ต้องควบคุมอาหารที่มีไขมัน ควรบริโภคตามคำแนะนำของแพทย์


ผู้เรียบเรียง : สุชาวดี นานเลิศ (นักวิทยาศาสตร์อาหาร, สงวนฟาร์ม)



bottom of page