top of page

“ไข่” ดีกับ ผู้ป่วยเบาหวานหรือไม่ ?

ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับปริมาณคอเลสเตอรอลในไข่ เนื่องจากไข่มีคอเลสเตอรอลแต่การรับประทานไข่ไม่ได้เกี่ยวว่าจะต้องมีปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและการรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะจะไม่ส่งผลเสียต่อระดับคอเลสเตอรอล ในวันนี้เราจะพามาดูผลกระทบต่อสุขภาพที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะได้รับจากการรับประทานไข่ และยังครอบคลุมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและวิธีที่ดีที่สุดในการกินไข่หากคุณเป็นเบาหวาน


“ไข่” มีผลกระทบกับ “เบาหวาน” อย่างไร

ในคอเลสเตอรอลซึ่งประกอบไปด้วย HDL (High Density Lipoprotein) และ LDL (Low Density Lipoprotein) เป็นไขมันที่อยู่ในเลือดที่มีความสำคัญกับร่างกาย โดย HDL จะรู้จักในชื่อ “ไขมันดี” และ LDL จะรู้จักในชื่อ “ไขมันร้าย” ซึ่งการป่วยเป็นโรคเบาหวานอาจส่งผลต่อความสมดุลของคอเลสเตอรอลทั้ง 2 ตัวนี้ ซึ่งส่งผลกระทบในการเป็นโรคหัวใจ จึงทำให้หลายๆคนกังวลว่าการกินไข่อาจทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้นและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้


ผลของ “ไข่” กับผู้ป่วยเบาหวาน

ไข่เป็นอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำและดัชนีน้ำตาลต่ำมาก ทำให้เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยทางสมาคมโรคเบาหวานอเมริกัน (ADA) กล่าวว่า ไข่เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคเบาหวาน ไข่มีผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานน้อยมาก เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงรวมทั้งไข่สามารถทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน นี่อาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถรักษาน้ำหนักได้ แม้ว่าโปรตีนส่วนใหญ่ในไข่จะมาจากไข่ขาว แต่ไข่แดงนั้นเต็มไปด้วยไขมันที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ วิตามิน A, D, E และ K และสารต้านอนุมูลอิสระ ยังเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยวิตามิน B-12 แร่ธาตุ และกรดอะมิโนทั้งหมด 9 ชนิดที่ร่างกายไม่สามารถผลิตได้เอง ซึ่งการรับประทานไข่จะช่วยเพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลิน ลดการอักเสบ และเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีในร่างกาย


แนวทางการบริโภคไข่ที่ดีต่อสุขภาพให้ผู้ป่วยเบาหวาน

วิธีบริโภคไข่ที่ดีต่อสุขภาพคือนำไป ต้ม ลวก หรือกวนด้วยนมไขมันต่ำ แนะนำให้จับคู่ไข่กับผักต้มหรือสลัด แทนที่จะกินควบคู่ไปกับอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เบคอนหรือชีส หากใช้การทอดสามารถเลือกใช้น้ำมันทอดเป็นน้ำมันที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันคาโนลา หรือน้ำมันมะกอก ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถใส่ไข่เป็นส่วนหนึ่งของอาหารเพื่อสุขภาพได้การกินไข่ในปริมาณที่พอเหมาะไม่ส่งผลเสียต่อความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจคือการเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการไปพบแพทย์เป็นประจำเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อทราบความเสี่ยงของคุณในแต่ละสภาวะและเปลี่ยนแปลงอาหารและวิถีชีวิตหากจำเป็น



ผู้เรียบเรียง : ธนวัฒน์ ฉายาวัฒนะ (นักวิทยาศาสตร์อาหาร, สงวนฟาร์ม)


bottom of page